การบริหารโดยการเรียนจากชีวิตสัตว์/Management by Animals (MBA) # 13

 

Chicken (ชิค-เก้น = ไก่)

 สัตว์ที่อยู่ในกลุ่มตัว C มีเยอะ เราจึงยังไม่ไปไหน คราวนี้เราพูดถึง Chicken หรือ ไก่ กัน 

ไก่เป็นสัตว์ปีกแต่ไก่บินไม่ได้ไกล แบ่งเป็นไก่บ้านและไก่ป่า ในบทความนี้ เราจะพูดถึงไก่บ้านมากกว่า 

มนุษย์จับไก่ป่าเพื่อนำมาเลี้ยงเป็นไก่บ้านเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว ประเทศจีนเลี้ยงไก่กันมาประมาณกว่า 3,000 ปี กรุงบาบิโลนนำไก่ไปจากอินเดียเมื่อ 2,500 ปี หลังจากนั้นอีกราว 100 ปีต่อมาก็ขยายพันธุ์ไปที่ประเทศกรีซ กรุงโรมเลี้ยงไก่มาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษ แต่การเลี้ยงไก่กันอย่างจริงจังนั้นเริ่มมาเมื่อประมาณกว่า 100 ปีนี้เอง เพราะมนุษย์มีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น เนื้อและไข่ของไก่ซึ่งมีรสชาติอร่อย ให้คุณค่าทางอาหารสูงจึงทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เรื่อยมาและขยายพันธุ์ไปทั่วโลก ทุกปีมีการบริโภคเนื้อไก่ประมาณ 100 ล้านตัน และไข่ประมาณ 1 ล้านล้านฟอง ความนิยมในการเลี้ยงเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเกษตรกรได้พบวิธีเลี้ยงไก่เพื่อกินเนื้อในเวลารวดเร็วโดยให้กินอาหารที่มีคุณภาพเพื่อให้ไก่โตเร็วและให้เนื้อที่อ่อนนุ่ม 

ในปี 1986 T. Schjelder-Ebbe นักจิตวิทยาชาวนอร์เวย์พบว่า ถ้าฝูงไก่ประกอบด้วยตัวเมียล้วนๆ จะมีไก่ตัวหนึ่งตั้งตัวเป็นนางพญา ที่สามารถจิกตีไก่ในฝูงได้ทุกตัว โดยไก่ที่ถูกจิกตี จะไม่ตอบโต้ จากนั้นก็จะมีไก่อีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่านางพญาเล็กน้อย จะทำหน้าที่เป็นไก่ตัวรองที่สามารถจิกตีไก่ตัวอื่นๆ ได้หมด ยกเว้นนางพญา แล้วการไล่ลำดับสิทธิ์การจิกตีจะดำเนินต่อไป จนกระทั่งถึงไก่ตัวสุดท้ายที่จะถูกไก่ตัวอื่นๆ ทุกตัวจิกตี ด้านฝูงไก่ตัวผู้ก็มีรูปแบบของการจัดอันดับจิกตีในลักษณะเดียวกัน และเมื่อ่ใดก็ตามที่มีไก่แปลกหน้าพลัดหลงเข้ามาในฝูง การต่อสู้จะเกิดขึ้นระหว่างไก่แปลกหน้ากับไก่ตัวอื่นๆ ในฝูงทุกตัว จนกระทั่งทุกตัวรู้ว่า ไก่แปลกหน้าตัวนั้นอยู่ในลำดับใดของฝูง เมื่อการจัดอันดับลงตัวแล้ว การต่อสู้กันเองของไก่ในเล้าก็ยุติ แต่ไก่เป็นสัตว์ที่มีความจำสั้น เมื่อถูกจับแยกกรง แล้วนำกลับเข้าไปขังรวมกันอีก ไก่ก็จะเริ่มจิกตีกันอีก เพราะมันลืมฐานันดรศักดิ์เดิมของมันหมดแล้ว 

ความผูกพันระหว่างคนไทยกับไก่มีมายาวนาน ในสมัยอดีตตามชนบทแทบทุกหมู่บ้านนิยมเลี้ยงไก่เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน เพื่อไว้ดูเล่น เป็นอาหารหลักและอาหารเสริมหรือเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในการแข่งชนไก่ 

นอกจากนั้น ไก่ยังมีความเกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของสังคมไทยอื่น ๆ เช่น ก ไก่ เป็นพยัญชนะตัวแรกของอักษรไทย ไก่ เป็นสัตว์เสี่ยงทายและเซ่นไหว้เทวดา ไก่ เป็นตัวเอกในนิทานหรือบทขับร้องสำหรับเด็กในวรรณคดีไทย เช่น ลิลิตพระลอ ตอน พระลอตามไก่ เป็นต้น 

ภาษาไทยมีสำนวนเกี่ยวกับไก่มากมาย เช่น

“เขียนแบบไก่เขี่ย” คือเขียนยุ่ง โย้เย้ ไม่เป็นระเบียบ เหมือนเวลาไก่เขี่ย เป็นลายมือที่ไม่มีใครอ่านออก

“ไก่แก่แม่ปลาช่อน” หมายถึงผู้หญิงที่อายุเยอะแต่ลูกเล่นแพรวพราว จัดจ้านในทางโลก

“ไก่อ่อนสอนขัน” เป็นสำนวนที่ใช้กับคนที่อ่อนประสบการณ์

“ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” หมายถึงการที่แต่ละฝ่ายรู้ความลับของกันและกัน

“เจ้าชู้ไก่แจ้” คือผู้ชายที่จีบสาวไปเรื่อย

“เวลาไปเหมือนไก่จะบิน” หมายถึงอาการคึกคัก กระดี๊กระด๊าเวลาจะได้ออกจากบ้าน

“ไก่ได้พลอย” หมายถึงคนที่ได้ของมีค่าแต่ไม่ตระหนักเรื่องคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น

“ไก่ตื่น” หมายถึงแสดงอาการตกใจมาก

“เป็ดขันประชันไก่” เป็นการแข่งขันระหว่างคนไม่เก่งกับคนเก่ง

“ไก่รองบ่อน” หมายถึงคนที่ไม่มีความสำคัญมากเท่าไร

“งงเป็นไก่ตาแตก” คือมีอาการมึนจนทำอะไรไม่ถูก เหมือนไก่ที่ถูกคู่ต่อสู้จิกตีด้วยเดือย จนตาแตกเป็นแผลทำตาพร่าเห็นไม่ชัด

“เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” หมายถึงคนไม่สู้งาน หยิบโหย่ง หนักไม่เอา เบาไม่สู้

“หมูไปไก่มา” ใช้หมายถึงการพึ่งพาอาศัยกัน และ

“หมูเห็ดเป็ดไก่” หมายถึงการมีอาหารบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น 

ไก่ทำเมนูอะไร ๆ ก็อร่อย จนทำให้ “เคเอฟซี” ขายไก่ทอดไปทั่วโลกจนเป็นองค์กรใหญ่ที่ร่ำรวยอย่างที่เห็น และเมนูจากไก่ที่อร่อยมาก ๆ สำหรับคนไทยก็คือ “ไก่ย่างนั่นเอง”  ไก่ย่างเจ้าดัง ๆ ของประเทศ ได้แก่ ไก่ย่างโคราช ไก่ย่างบางตาล ไก่ย่างหัวทับทัน ไก่ย่างเขาสวนกวาง ไก่ย่างพังโคน ไก่ย่างวิเชียรบุรี ไก่ย่างจีระพันธ์ วิเศษไก่ย่าง ลิขิตไก่ย่าง เป็นต้น 

บทเรียนที่ได้จากไก่ 

1. ตระหนักถึงคุณค่าของกลุ่ม

ตั้งแต่วันที่ไก่ออกจากไข่ ไก่จะเข้าใจถึงความสำคัญของการเกาะกลุ่มกัน ลูกเจี๊ยบจะจับกลุ่มกันและตามแม่ไปไหนต่อไหนตลอด ถ้าหลง ลูกไก่จะร้องเสียงดังตามหาจนกระทั่งเจอกลุ่มพี่น้องของมัน เราเองก็ควรทำงานอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อประโยชน์ของกลุ่มด้วย 

2. ให้อภัยและลืม – เลือกเพื่อนอย่างชาญฉลาด

ความที่ไก่ความจำสั้น ทำให้ไก่ไม่เก็บความแค้น ไก่อาจจิกกันรุนแรงเพื่อกำหนดลำดับชั้น แต่เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ไก่แต่ละตัวก็หันมาปรองดองกันเหมือนเดิม แต่ถึงกระนั้น ไก่ดันมีความจำ “ที่เป็นเลิศ” จะไม่ยอมเข้าใกล้ไก่อีกตัวที่มีนิสัยแย่ ๆ บทเรียนข้อนี้ย้ำในเรื่องการให้อภัยและเลือกเพื่อนที่เราคบได้อย่างชัดเจน! 

3. ความรักที่ยอมเสียสละ

ไก่พ่อเล้า เมื่อเจออาหารจะไม่กินคนเดียว มันจะเรียกตัวเมียอื่น ๆ ในฝูงให้มากินอาหารพร้อมกันก่อน

ส่วนแม่ไก่ ตอนฟักไข่ก็จะฟังเป็นเวลานานร่วม 21 วัน ไม่ไปไหน บางครั้งแถมไม่กินอาหาร จนกระทั่งลูกเล็ก ๆ ฟักออกมาเป็นตัว แม่ไก่จะยอมสู้ตายถ้ามีเหยี่ยวพยายามจะมาฉกลูกของมัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังมีคลิปภาพแม่ไก่จิกเหยี่ยวที่พยายามจะมาฉกลูกของมันจนเหยี่ยวตาย ลองถามตัวเอง “ฉันมีความรักที่ยอมเสียสละมั้ย?” 

4. การสื่อความที่ยอดเยี่ยม

ไก่สื่อความติดต่อกันเพื่อบอกแหล่งอาหาร ส่งสัญญาณการหลบภัย ส่งเสียงเพื่อรวมกลุ่ม เราเองย่อมต้องใส่ใจในการพูดจาสื่อสารกับคนรอบตัว  จะพูดอะไร? แบบไหน? อะไรเหมาะ? อะไรไม่เหมาะ? เป็นต้น

Comments

Popular posts from this blog

การบริหารโดยการเรียนจากชีวิตสัตว์/Management by Animals (MBA) # 15

การบริหารโดยการเรียนจากชีวิตสัตว์/Management by Animals (MBA) # 11