การบริหารโดยการเรียนจากชีวิตสัตว์/Management by Animals (MBA) # 11

 

Centipede (เซ่น-ทิ-ผีด ตะขาบ)

ตะขาบ (คำเมือง: จักเข็บ; อีสาน: ขี้เข็บ) ตะขาบไม่ใช่แมลง แต่เป็นสัตว์ประเภทลำตัวเป็นปล้อง โดยมี 15-100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ชื่อ 

Centipede (“เซนติ คือ 100) มีความหมายคือ “100 ขา” แต่ตะขาบไม่มี 100 ขา เพราะทุกตัวมีมีขาคู่เป็นจำนวนคี่ ตอนเกิดมีขาสี่ชุด เมื่อโตเต็มที่จะมีขามากขึ้น

ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ และเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งเชื่อมต่อกับต่อมพิษ เมื่อกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เหยื่อเจ็บปวดและเป็นอัมพาต เมื่อถูกตะขาบกัดจะพบรอยเขี้ยวสองรอย ลักษณะเป็นจุดเลือดออกตรงบริเวณที่ถูกกัด 

ตัวเมียสามารถมีลูกได้ 150 ตัวตลอดช่วงชีวิต 

ตะขาบพบได้ในเขตร้อนชื้น อาศัยอยู่บนบก มีหลายขนาด ส่วนใหญ่ความยาวของลำตัวตั้งแต่ 3-8 เซนติเมตร (ขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาว 8-10 นิ้ว)

ตะขาบวางไข่ในที่ชื้นหรือต้นพืช ต้นหญ้า ใช้เวลาในการเจริญเติบโตนานโดยลอกคราบ 10 ครั้ง ตัวเต็มวัยมีอายุ 3-5 ปี กลางวันตะขาบจะซ่อนอยู่ในที่เย็น ๆ เช่น ใต้ก้อนหิน ออกหาเหยื่อในเวลากลางคืน กินแมลงเป็นอาหาร ในประเทศไทยพบตะขาบ 48 ชนิด ขณะที่ทั่วโลกมีตะขาบทั้งหมด 3,000 ชนิด 

อะไรดึงดูดตะขาบ? 

ตะขาบถูกดึงดูดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย: 

1. อาหาร: ความต้องการอาหารมีสูง เพราะตะขาบเป็นนักล่า พวกมันจะออกหาเหยื่อไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนรวมทั้งที่อยูในบ้านของเรา 

2. ที่พักพิง: เมื่อไม่ได้ล่าอาหาร ตะขาบจะหาที่พักผ่อน ตะขาบจะคลานอยู่ใต้ก้อนหิน ภายในท่อนไม้ที่เน่าเปื่อยหรือใต้เศษใบไม้ ภายในบ้านตะขาบจะมองหารอยแยกตามฝาผนัง ใต้กล่องกระดาษแข็งหรือซ่อนตัวอยู่ตามท่อระบายน้ำที่พื้น 

3. ความชื้น: ตะขาบต้องการสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูงเพื่อความอยู่รอด สภาพที่แห้งเกินไปจะฆ่าพวกมัน ใต้ถุนบ้านที่เย็นและพื้นที่ชื้น ๆ จึงเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสำหรับตะขาบบางชนิด 

บทเรียนที่ได้จากตะขาบ 

1. เรื่อง “การแพ้ทางกัน” งูกลัวตะขาบ ตะขาบสามารถจับงูกินได้ ความมีพิษของมันและรูปร่างของตะขาบช่วยให้มันชนะงูได้ แต่ตะขาบดันแพ้ทางไก่ที่ดูไม่มีพิษสงอะไร ไก่เจอตะขาบเมื่อไรก็จิกตะขาบกินทันที แต่ไก่แพ้ทางงู สู้งูไม่ได้ กลายเป็นไก่เป็นฝ่ายถูกงูกินทุกที เรื่องนี้ให้ข้อคิดกับเราไม่ให้ประเมินค่าตัวเองต่ำไปในด้านสังคมหรือความสามารถ เราอาจจะยังค้นหาตนเองไม่เจอ ให้เวลาสักนิดเพื่อประเมินตัวเองและกำหนดทิศทางและความมุ่งหวังให้ตรงกับสภาพจริงที่เป็น 

2. การอยู่อย่างระแวดระวัง ตะขาบไม่ใช่จะออกมาโชว์ตัวให้เราเห็นอยู่บ่อย ๆ ให้บทเรียนแก่เราให้หลบหลีกอันตรายหรือภัยที่อาจเกิดขึ้นเพราะขาดความระมัดระวังหรือชะล่าใจเกินไป 

3. พิษตะขาบเป็นประโยชน์ ตะขาบกัดไม่ตาย แต่อาจทำให้แพ้พิษ 2-3 วัน พิษตะขาบถูกใช้เป็นยาแก้ปวดมานานหลายศตวรรษโดยชาวจีน ส่วนแพทย์ตะวันตกเพิ่งจะหันมาสนใจได้ไม่นานนี่เอง โดยสกัดสารเปปไทด์จากตะขาบเป็นสาร Sodium channel blocker คอยปิดกั้นการซึมผ่านของเกลือโซเดียมที่บริเวณผนังเซลล์ของเนื้อเยื่อตามร่างกาย เพื่อควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด

 

Comments

Popular posts from this blog

การบริหารโดยการเรียนจากชีวิตสัตว์/Management by Animals (MBA) # 15

การบริหารโดยการเรียนจากชีวิตสัตว์/Management by Animals (MBA) # 13